Centre for Internet & Society

Talk with Sunil Abraham, an expert on the Internet and good governance in the issue of creating a digital identification system.

What should you think before doing a national database? Transparency should be inversely proportional to the power of the person. The state must provide information as well. Not the only store Database technology and public surveillance are not the same. Otherwise the entire system will crash How important is democracy in making good information systems? Read the interview published by Prachatai on July 18, 2019 below


คุยกับสุนิล อับราฮัม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอินเทอร์เน็ตและธรรมาภิบาลในประเด็นการจัดทำระบบข้อมูลประจำตัวประชาชนแบบดิจิทัล ควรคิดอะไรก่อนทำฐานข้อมูลประชาชนระดับชาติ ความโปร่งใสควรแปรผกผันกับอำนาจของบุคคล รัฐต้องให้ข้อมูลด้วย ไม่ใช่เก็บอย่างเดียว เทคโนโลยีฐานข้อมูลกับการสอดส่องประชาชนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ไม่เช่นนั้นพังทั้งระบบ ประชาธิปไตยสำคัญอย่างไรกับการทำระบบข้อมูลที่ดี

หนึ่งในบทสนทนาที่มีในปัจจุบันคือการนำข้อมูลประชาชนขึ้นสู่ระบบดิจิทัล เทคโนโลยีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างระบบฐานข้อมูลดิจิทัลไปจนถึงโครงข่ายออนไลน์แบบบลอกเชนทำให้จินตนาการดังกล่าวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

แต่เมื่อถอยกลับไปมองภาพใหญ่จะพบว่าเรื่องทางเทคนิคเป็นเพียงหนึ่งเม็ดทรายบนชายหาด ยังมีข้อควรคำนึงถึงเยอะแยะหยุมหยิมไปหมดทั้งในเรื่องกฎหมาย ความพร้อมของผู้บังคับใช้กฎหมาย ภาคธุรกิจและประชาชนที่ต้องคำนึงถึงเรื่องพฤติกรรม บรรทัดฐานของสังคม และคำถามสำคัญที่ว่าระบบดังกล่าวจะถูกใช้ในการเฝ้าระวัง สอดแนมประชาชนหรือไม่ เพราะประเทศเผด็จการที่คนไทยหลายคนยกย่องอย่างจีน ก็ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์ประชาชนถึงขั้นคุมความประพฤติกันด้วยระบบคะแนนได้แล้ว

แม้ยังไม่เกิดในไทยแต่ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ ความกังวลของชาว 14 อำเภอและสามจังหวัดชายแดนใต้เมื่อมีข้อความ SMS จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้ไปสแกนใบหน้าเพื่อลงทะเบียนซิมการ์ดตามประกาศของ กสทช. เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนจากพื้นที่ที่ความมั่นคงหลอมรวมอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันที่ชัดเจน ปัญหาของการทำระบบนั้นยืนอยู่บนคำถามใหญ่ว่า “ทำอย่างไร” และ “เพื่ออะไร” หากกิจวัตรประจำวันของคนทั้งประความมั่นคงจะกลายเป็นองค์ประกอบในเทศ

สุนิล อับบราฮัม ผู้อำนวย (ผอ.) การบริหารจากศูนย์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมจากประเทศอินเดีย ให้สัมภาษณ์ประชาไทในเรื่องรูปร่างหน้าตาของระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลดิจิทัลว่าควรเป็นแบบไหน อะไรที่ต้องคำนึงถึงและถามกันบ่อยๆ เมื่อจะออกแบบระบบ การเฝ้าระวังอาชญากรรมและปัญหาความมั่นคงทำได้แค่ไหน และการเป็นประชาธิปไตยเกี่ยวอะไรกับการมีระบบข้อมูลประชาชนดิจิทัลที่ดี

ประชาไท: ระบบข้อมูลประชาชนดิจิทัลคืออะไร

สุนิล: เดิมทีบัตรประชาชนเป็นวัตถุทางกายภาพ ส่วนมากก็เป็นกระดาษและมันก็มีข้อน่าห่วงมากๆ ในเรื่องความปลอดภัย เพราะว่ารัฐและบริษัทเอกชนต่างใช้บัตรประชาชนเพื่อไปถ่ายสำเนา อันนี้ผมได้ยินว่าในบริบทของไทยก็ถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน สิ่งที่คุณต้องการจริงๆ คือวิธีที่จะทำให้ภาครัฐและเอกชนยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องเก็บข้อมูลจากคุณมากจนเกินไป

ในทางอุดมคตินั้นระบบเอกสารประจำตัวที่ดี ควรที่จะทำให้การยืนยันรายละเอียดของคุณอย่างพวกที่อยู่ อายุ สถานะจน-รวย โดยไม่ต้องเก็บข้อมูล (อื่นๆ) ที่ไม่จำเป็นรวมถึงเลขบัตรประชาชนด้วย แม้แต่เลขประจำตัวประชาชนของคุณก็ไม่ควรจะถูกเก็บไปโดยองค์กรอื่นๆ โดยไม่มีความจำเป็น

ปัจจุบันเรามีทางเลือกสองแบบ มีตัวอย่างในแคนาดา สหราชอาณาจักร หรือแม้แต่ในไทยที่กำลังทำ โครงการระบบพิสูจน์ตัวตนอิเลกทรอนิคส์แห่งชาติ หรือ National Digital ID (NDID) คุณคิดถึงวิธีแก้ปัญหาเรื่องระบบเอกสารประจำตัวในฐานะระบบนิเวศที่จะให้ตัวแสดงในระบบนิเวศยืนยันข้อมูลประจำตัวและเก็บข้อมูลของปัจเจกผ่านระบบการจัดการการยินยอมที่ดี (consent management)

(แต่) ก็มีหลายประเทศที่มีหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลประชาชนแห่งชาติแบบรวมศูนย์ แล้วก็กลายเป็นจุดล้มเหลวจุดเดียว (Single Point of Failure - SPOF) ของระบบในประเทศ นี่จึงเป็นตัวเลือกใหญ่ๆ ที่แต่ละประเทศมี คือจะใช้วิธีจัดการแบบระบบนิเวศที่คิดถึงทุกอย่างแบบเป็นองค์รวม หรือมองว่าประเทศหนึ่งประเทศก็เหมือนกับบริษัทหรือมหาวิทยาลัย อะไรที่ใช้ได้กับบริษัทหรือมหาวิทยาลัยก็ใช้แบบนั้นกับประเทศทั้งประเทศ

แต่ละวิธีมีข้อเสียต่างกันอย่างไร

ในทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญทุกคนจะบอกว่าไม่มีระบบไหนที่ถูกแฮ็กไม่ได้ แต่ระหว่างสองตัวเลือกนี้มีความแตกต่างอย่างมาก ในโมเดลระบบนิเวศจะไม่มีจุดล้มเหลวจุดเดียวและการเจาะระบบนี้ก็มีต้นทุนสูงกว่าระบบแบบรวมศูนย์ แม้แต่การฟื้นฟูและรักษาข้อมูลที่หายไปก็ทำได้ถูกกว่าด้วย แต่ในระบบแบบรวมศูนย์นั้น ทุกคนจะได้รับผลกระทบเมื่อมีการเจาะเข้าไปได้ และส่วนมากการโจมตีจุดที่ล้มเหลวจุดเดียวก็มีต้นทุนน้อยกว่า

กระแสโลกที่มีต่อการทำข้อมูลประชาชนดิจิทัลคืออะไร

แนวโน้มใหญ่ๆ ของโลกคือมีบางบริษัทที่ขายเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ (การใช้ข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ลักษณะทางกายภาพอย่างม่านตา ลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ ใบหน้าเพื่อตรวจสิทธิหรือแสดงตน) ที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นเทคโนโลยีแบบควบคุมจากระยะไกลและไม่ต้องใช้ความยินยอมของเจ้าของข้อมูล เพราะเวลาที่มีการสแกนใบหน้าหรือม่านตาเพื่อยืนยันตัวตนนั้น เจ้าของข้อมูลอาจจะไม่รู้ ผู้ใช้งานอาจจะสแกนจากระยะไกลด้วยกล้องความคมชัดสูง และการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ก็เก็บได้ขณะที่เจ้าของนอนหลับหรือหมดสติ

เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์เป็นเทคโนโลยีการเฝ้าระวังที่ดีมากเมื่อรัฐบาลต้องการต่อกรกับอาชญากรรมหรือบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการเฝ้าระวังไม่ใช่เทคโนโลยีข้อมูลประจำตัวที่ดี โชคร้ายที่บริษัทใหญ่ๆ ที่ขายระบบเฝ้าระวังได้เดินทางไปทั่วโลกและบอกกับรัฐบาลต่างๆ ว่าพวกคุณสามารถแก้ปัญหาเรื่องเอกสารข้อมู,และความมั่นคงได้พร้อมกันด้วยเทคโนโลยีเฝ้าระวังซึ่งมันไม่จริง

ถ้าคุณใช้เทคโนโลยีการเฝ้าระวังมาสร้างระบบข้อมูลประชาชน นั่นหมายความว่าคุณยิ่งไปสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงเข้าไปอีก เพราะคุณสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ไหน้ำผึ้ง’ หมายถึงว่ามีจุดๆ หนึ่งที่เก็บข้อมูลลายนิ้วมือ ใบหน้าหรือม่านตาของทุกๆ คน แล้วถ้าระบบนั้นมีจุดที่ล้มเหลวขึ้นมาเพียงจุดเดียว ลองนึกถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่เก็บพาสเวิร์ดของทุกคนเอาไว้ในเซิฟเวอร์เดียวกัน มันก็เป็นความเสี่ยงนั้น

เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์นั้นควรใช้ในระบบแบบไม่รวมศูนย์ คุณสามารถเก็บข้อมูลทางชีวภาพจากประชาชนได้ แต่ควรเก็บมันเอาไว้ในชิปสมาร์ทการ์ดของแต่ละคน อย่างระบบสแกนใบหน้าของไอโฟนที่ไม่มีเซิฟเวอร์เก็บข้อมูลใบหน้า แต่อาศัยพื้นที่บนโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานให้เก็บข้อมูลเหล่านั้นเอง

บางประเทศมีสมาร์ทการ์ดที่มีแม้กระทั่งเครื่องอ่านลายนิ้วมือบนบัตร ที่คุณต้องทำก็คือใส่สมาร์ทการ์ดเข้าไปในเครื่องอ่าน จากนั้นคุณก็วางนิ้วมือลงบนสมาร์ทการ์ดโดยไม่ต้องเอานิ้วไปแปะที่อุปกรณ์อื่นของรัฐหรือเอกชน นั่นเป็นวิธีการใช้งานไบโอเมทริกซ์ที่ถูกต้องเพราะคุณใช้โบโอเมทริกซ์แบบที่ไม่อิงอยู่กับการเฝ้าระวัง

แปลว่าแนวโน้มระบบข้อมูลประชาชนของรัฐส่วนใหญ่อยู่กับฐานคิดการเฝ้าระวังใช่ไหม

ใช่แล้ว ความมั่นคงแห่งชาติและการเฝ้าระวังถูกจัดเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่แนวทางในการออกแบบระบบฐานข้อมูลประจำตัวประชาชนแบบ e-governance (ธรรมาภิบาลอิเล็คโทรนิกส์) การเฝ้าระวังนั้นสำคัญมากสำหรับสังคม แต่มันก็เหมือนเกลือในอาหาร คุณไม่สามารถกินอาหารได้โดยไม่มีเกลืออยู่ในนั้นนิดหน่อย คุณไม่สามารถมีประเทศที่ปลอดภัยหากไม่มีการเฝ้าระวัง แต่ถ้าคุณตัดสินใจตักเกลือห้าช้อนชาใส่ลงไปในอาหารเมื่อไหร่ อาหารก็เป็นพิษ เรื่องการเฝ้าระวังก็เช่นกัน มันจำเป็นในปริมาณน้อย แต่จะมีผลย้อนกลับหากมีมากเกินไป

แล้วแนวทางที่ดีที่สุดควรเป็นแบบไหน

ควรใช้ระบบและมาตรฐานแบบเปิด (open source and open standard) เพราะคุณจะสามารถพิสูจน์และตรวจสอบระบบได้ ถ้าคุณตรวจสอบหรือพิสูจน์ไม่ได้ นั่นหมายความว่าคุณจะไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร ส่วนต่อไปคือข้อมูลที่ถูกขอและส่งต่อในระบบนิเวศเมื่อทำธุรกรรมจะต้องมีจำนวนน้อยที่สุด

อีกสิ่งที่จำเป็นคือ คุณต้องมี Human in the Loop (ความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบบนั้น) หมายความว่า คุณควรรู้ว่าในขั้นตอนนั้นๆ มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานเอกชนคนไหนเป็นคนรับผิดชอบ  และถ้ามีอะไรผิดพลาดคุณควรจะหาคนรับผิดรับชอบได้

ความรับผิดรับชอบนั้นแยกได้ว่า หนึ่ง เห็นตัวคนที่รับผิดชอบ สื่อมวลชนสามารถชี้นิ้วไปได้และบอกว่าคนนี้รับผิดชอบกับความผิดพลาดนั้น สอง การเป็นผู้จ่ายค่าปรับ ส่วนนี้สำคัญกับภาคเอกชน และสุดท้ายคือคนที่ต้องติดคุกหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น เช่นสิทธิมนุษยชนของบางคนได้รับผลกระทบ ดังนั้น เมื่อคุณจะออกแบบระบบฐานข้อมูลประจำตัว คุณต้องถามว่า ‘ใครเป็น Human in the loop’ นั่นเป็นกุญแจหลักของการออกแบบ

หลักการต่อไปของระบบข้อมูลประชาชนที่ดีคือต้องกระจายจากศูนย์กลาง ไม่ควรมีจุดล้มเหลวจุดใหญ่จุดเดียว การจัดการข้อมูลแบบระบบนิเวศนั้นดีกว่าการรวมศูนย์ นอกจากนั้นระบบควรจะรับมือและฟื้นตัวจากเหตุร้ายแรงที่สุดได้ ในระหว่างที่คุณออกแบบระบบก็ควรตั้งคำถามไปพลางว่า ถ้าระบบโดนแฮ็กจะทำอย่างไร หรือถ้าอาชญากรเอาระบบนี้ไปใช้ล่ะ คุณจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ร้ายแรงที่สุดและต้องออกแบบระบบมารับมือมัน

แล้วมองในแง่สังคม คนทั่วไป คุณกังวลเรื่องอะไรบ้าง

ปัญหาหลักตอนนี้คือ แนวคิดที่รายล้อมระบบข้อมูลประชาชนดิจิทัลคือการย้ำให้พลเมืองต้องโปร่งใสกับรัฐ พวกเขา (รัฐ) ต้องการให้พลเมืองส่งข้อมูลทุกอย่างให้กับรัฐ แต่ว่ารัฐไม่ให้ข้อมูลใดๆ กับพลเมือง ในระบบข้อมูลประชาชนที่ดี รัฐควรจะมีความโปร่งใสกับพลเมือง

ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง สมมติว่าผมเป็นพนักงานรัฐที่ทุจริต ผมจะเขียนลงไปในบันทึกว่าคุณมาหาผมที่ออฟฟิศในวันนี้ นี่คือเลขประจำตัวประชาชนของคุณที่ขอกู้เงิน หรือไม่ก็ได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 2,000 บาท ผมก็สามารถเอาเงิน 2,000 บาทเข้ากระเป๋าผมแบบไม่มีใครพิสูจน์ได้ และคุณก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วย เพราะว่าเลขประจำตัวของคุณอยู่ในบันทึกของรัฐ แต่ถ้าคุณใช้มันให้ดี เราจะมีเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ดที่พลเมืองจะใส่บัตรและกดรหัส หลังจากคุณดึงบัตรออกเจ้าหน้าที่ก็จะใส่สมาร์ทการ์ดของเขาเข้าไปและกดรหัส นั่นจะทำให้มีบันทึกในระบบอิเล็กโทรนิกส์และถูกเซ็นโดยเจ้าหน้าที่รัฐและพลเมือง จะไม่มีใครปฏิเสธได้แล้วว่ามีการพบกันจริงๆ ในระบบข้อมูลประจำตัวที่ดีนั้น ทั้งคู่จะต้องแสดงตัวตน แต่ในระบบที่ไม่ดีจะมีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ถามหาหลักฐานประจำตัวและคุณจะไม่มีการบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองนั้นควรมีสัดส่วนแปรผันกับอำนาจ ความโปร่งใสและการกำกับควบคุมควรมีสัดส่วนโดยตรงกับอำนาจ คนที่มีอำนาจหรือคนรวยต้องมีความโปร่งใสมากกว่าคนอื่นและมีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าคนอื่น คนที่ไม่มีอำนาจหรือคนเปราะบางควรจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ถ้าคุณดูนโยบายด้านฐานข้อมูลแบบเปิด (โอเพ่นดาต้า) หรือกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารจะพบว่าข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อยกเว้นในกฎหมายเหล่านั้น ข้อมูลรัฐที่ไม่เป็นส่วนตัวเท่านั้นที่สามารถถูกแบ่งปันกันได้ในโอเพ่นดาต้า แต่ถ้าคุณไปดูกฎหมายความเป็นส่วนตัวก็จะพบว่ามีข้อยกเว้นในเรื่องประโยชน์ต่อสาธารณะ นั่นหมายความว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองคนสำคัญ สิ่งที่คุณคุยในห้องนอนก็อาจสำคัญกับประเทศทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าคุณไม่มีความเป็นส่วนตัวในการพูดคุยเรื่องลับ

ความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นข้อยกเว้น แต่ผลประโยชน์สาธารณะมันเป็นข้อยกเว้นของข้อยกเว้นอีกที สมมติว่านายกฯ มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ทำให้เขาหรือเธอไม่เหมาะที่จะดำรงตำแหน่งอีกต่อไป ข้อมูลส่วนตัวนั้นก็เป็นข้อยกเว้นของข้อยกเว้น ถ้าการได้รู้ว่านายกฯ ป่วยหนักเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมันก็ควรถูกเปิดเผย การลองทำบททดสอบด้านผลประโยชน์สาธารณะน่าจะช่วยเรื่องการจัดการแกนสมมาตรเชิงอำนาจระหว่างกฎหมายสองชุด

ในการช่วยเหลือคนจน คุณควรมีกฎหมายความโปร่งใสและนโยบายโอเพ่นดาต้าที่ดี เพื่อคุ้มครองคนจนและคนเปราะบาง คุณต้องมีกฎหมายความเป็นส่วนตัว และถ้าคุณมีการทดสอบเรื่องผลประโยชน์สาธารณะในกฎหมายทั้งสองชุด กฎหมายเหล่านั้นก็จะไม่ถูกใช้ขูดรีดคนจน

ความมั่นคงจะอยู่ร่วมกับเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวได้อย่างไร

กฎหมายข้อมูลประจำตัวดิจิทัลจะต้องมีสอดรับกับกฎหมายความเป็นส่วนตัวและนโยบายโอเพ่นดาต้า แต่ปัญหาก็คือกฎหมายความเป็นส่วนตัวยังเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในภูมิภาคนี้ ไทยเพิ่งผ่าน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่อินเดียยังไม่มีในระดับชาติ ก็ยังคงมีงานที่ต้องทำอยู่ ศาลต้องทำหน้าที่หาคำนิยาม หน่วยงานกำกับดูแลต้องมีแนวทางกำกับที่จำเพาะมากๆ ภาคอุตสาหกรรมต้องมีแนวทางกำกับตัวเองและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ภาคประชาสังคมเองก็ต้องช่วยภาคส่วนอื่นๆ ด้วยการถามคำถามหนักๆ

มันต้องใช้เวลา อย่างยุโรปก็มีเส้นทางการมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลยาวนานถึง 35 ปี นั่นเป็นเหตุผลที่ยุโรปมีการคุ้มครองที่ดีกว่า ในภูมิภาคของพวกเราก็จะใช้เวลาต่อสู้ถึง 35 ปีเช่นกัน ดังนั้น ประชาสังคมจะต้องเตรียมตัวในการต่อสู้เป็นเวลา 35 ปี และหลังจากนั้น ลูกหรือลูกของลูกเราจะเห็นระบบนิเวศข้อมูลประชาชนที่ปลอดภัยกว่านี้

รัฐบาลควรทำอะไรบ้าง

การผ่านกฎหมายอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ที่ (รัฐบาล) ทำในไทยคือแค่ผ่านกฎหมาย ตอนนี้คุณต้องสร้างคณะกรรมการที่เป็นอิสระ มีงบประมาณมากพอที่จะจ้างวิศวกรและนักกฎมายที่ดีที่สุด คณะกรรมการควรเริ่มบังคับใช้ข้อบังคับอย่างช้าๆ ศาลเองก็ควรพัฒนาองค์ความรู้ ผู้พิพากษาจะต้องเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในประเทศอื่นๆ ระบบกฎหมายต้องเตรียมพร้อมกับข้อกังวลใหม่ๆ

เทคโนโลยีช่วยได้แค่ไหน

เทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา คุณยังต้องกังวลเรื่องกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคม อะไรที่คนธรรมดาเขาทำกัน ถ้าทุกคนยังคงยินดีกับการส่งสำเนาบัตรประชาชน คุณก็ต้องไปเปลี่ยนมัน รัฐบาลมีประสบการณ์มากกับการยกระดับบรรทัดฐานทางสังคม

รัฐบาลต้องใช้อำนาจที่มีในการเปลี่ยนแนวปฏิบัติ เรื่องแนวทางการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวก็เหมือนการสูบบุหรี่ พวกนักสูบส่วนมากก็รู้อยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่นั้นทำให้เกิดมะเร็งและปัญหาอื่นๆ แต่ก็จะยังสูบต่อไปจนกว่าหมอจะบอกว่าเป็นมะเร็ง รัฐบาลก็ต้องทำให้พลเมืองเกิดความกลัวในสิ่งที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนเลิกไม่เอาใจใส่เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล

ส่วนสุดท้ายคือตลาด บรรษัทก็ต้องเริ่มสร้างนวัตกรรม เช่น ธนาคารควรออกมาพูดได้ว่าระบบของเราดีกว่าที่อื่น เราไม่ใช้ไบโอเมทริกซ์ เป็นต้น กฎหมายต้องทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างบรรษัทในเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว เมื่อเราเห็นบรรทัดฐาน กฎหมาย เทคโนโลยี และการแข่งขันทางเทคโนโลยี วันนั้นเราจะเริ่มเห็นทางออก ผมถึงบอกว่ามันจะใช้เวลา 30-40 ปี ไม่ก็นานกว่านั้น

ระบบข้อมูลประจำตัวดิจิทัลที่ดีเกี่ยวอะไรกับประเทศเป็นประชาธิปไตยไหม

ผู้คนถามคำถามยากๆ หลายคำถามในระบอบประชาธิปไตย และนั่นเป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือประชาธิปไตยที่ปกครองโดยรัฐธรรมนูญ (Constitutional democracy) เพราะคุณไม่สามารถเดินไปถามคนทุกคนเพื่อหามติต่อคำถามทางเทคนิค

คุณต้องมีการอภิปรายสาธารณะที่โปร่งใสเยอะๆ แต่คุณไม่สามารถตัดสินใจกันด้วยการโหวต การไปถามว่า ‘มีกี่คนอยากใช้สแกนลายนิ้วมือ มีกี่คนอยากใช้สแกนใบหน้า’ ไม่ใช่วิธีออกแบบระบบข้อมูลประจำตัวดิจิทัล มันจะต้องวางอยู่บนหลักของรัฐธรรมนูญบางประการเช่นความถูกต้องตามกฎหมาย ความจำเป็น ความได้สัดส่วน หลังจากนั้นคุณจะต้องมีแนวทางที่เสนอโดยวิศวกรและนักกฎหมาย จากนั้นจึงให้มีการถกเถียงและอภิปราย

คุณตัดสินโดยอิงเสียงข้างมากไม่ได้เพียงเพราะคนส่วนมากบอกว่าพวกเขารู้สึกว่าการสแกนใบหน้ามันง่ายมาก คุณก็ไม่สามารถบอกว่าจะนำการสแกนใบหน้าไปใช้กับทุกอย่างเพียงเพราะมันปลดล็อกไอโฟนง่ายดี เพราะในวันพรุ่งนี้เทคโนโลยีเดียวกันอาจถูกนำไปใช้เพื่อสลายการชุมนุมก็ได้ แม้ทุกคนจะรักหลงการสแกนใบหน้าในประชาธิปไตยของคุณ แต่รัฐธรรมนูญยังคงต้องปฏิเสธมันและบอกว่ามันไม่จำเป็น ไม่ได้สัดส่วน มันควรถูกแบน หรือไม่ก็ใช้ในวัตถุประสงค์ที่จำเพาะ

ช่วยอธิบายว่าทำไมการเฝ้าระวังอาจเป็นการทำให้คนหลบเข้าไปอยู่ในมุมมืดมากขึ้น

มันเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ อย่างถ้าคุณไปบล็อกเนื้อหาที่คนชอบมากๆ คนก็อาจจะหันไปใช้ TOR หรือ VPN (วิธีการเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกบล็อก) ซึ่งนั่นไม่ใช่ความตั้งใจของคุณ ถ้าคุณไม่พัฒนาระบบข้อมูลประชาชนที่ดี ประชาชนก็จะเริ่มทำตัวเหมือนอาชญากร แต่พวกเขาไม่ใช่อาชญากร เพียงแค่เขาไม่ชอบการออกแบบระบบเท่านั้น คุณไม่สามารถบังคับให้คนทำพฤติกรรมแบบนั้นหรือแบบนี้ได้ ดังนั้นการเป็นประชาธิปไตยจึงสำคัญ ในระหว่างที่คุณพัฒนาเทคโนโลยีคุณก็ควรถามพวกเขา (ผู้ใช้) ไปด้วยว่ามันใช้ได้หรือไม่ ทำให้เกิดการอภิปรายขึ้น

Filed under: